Supply Chain Risk Management Solutions
Published On: ตุลาคม 1, 2024

ในโลกของธุรกิจที่การแข่งขันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ และเต็มไปด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายนานัปการ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการซัพพลายเชนที่ต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ด้วยเหตุนี้ทุกธุรกิจจึงให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงในซัพพลายเชน เพื่อให้การผลิตสินค้า การจัดส่งสินค้า รวมถึงการบริหารองค์รวมของธุรกิจเป็นไปตามกำหนดเวลาและตามความต้องการของลูกค้า End-to-End Supply Chain Solutions จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการให้ทุกกระบวนการตั้งแต่การผลิตจนสินค้าส่งมอบถึงมือผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ความท้าทายและรูปแบบความเสี่ยงในซัพพลายเชนที่ธุรกิจต้องตระหนักและหาทางป้องกันก่อนเจอวิกฤต

ในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ซัพพลายเชนมีความสำคัญและมีความเสี่ยงที่ต้องตระหนักในหลายมิติ เพื่อให้สามารถรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้

1. ความเสี่ยงระดับโลก (Global Risks)

เป็นความเสี่ยงจากความไม่มั่นคงทางการเมือง สถานการณ์โลก รวมถึงสงครามต่าง ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดว่ามีผลต่อระบบโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้า คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อโรงงานที่ใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์ เนื่องจากยูเครนเป็นประเทศหลักในการส่งออก การที่ประเทศส่งออกรายใหญ่เกิดสงคราม และมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอ ย่อมกระทบต่อการผลิตสินค้าที่ใช้ไทเทเนียมออกไซด์ไปทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาคอขวดของการขนส่งสินค้าทางทะเล ความแออัดของท่าเรือ การขาดแคลนโกดังสินค้า และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย

2. ความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Operational Risks)

เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นภายในองค์กร ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาวัตถุดิบคุณภาพเพื่อใช้ในการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความชำนาญในการผลิต การโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงกระบวนการซัพพลายเชนที่ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การทำงานต้องหยุดชะงักจนอาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจได้

3. ความเสี่ยงจากธรรมชาติ (Natural Risks)

เป็นความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม รวมถึงโรคระบาดอย่างโควิด 19 ที่มีการล็อกดาวน์ปิดเมือง เกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิต การจัดส่งสินค้า ทำให้การจัดการซัพพลายเชนเกิดปัญหา จนขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบตามมา

4. ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ (Economic Risks)

เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อ ความต้องการของตลาดที่มีความผันผวน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ไปจนถึงนโยบายทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ล้วนแต่ส่งผลต่อกระบวนการจัดการซัพพลายเชนทั้งสิ้น

การจัดการความเสี่ยงในซัพพลายเชนส่งผลกระทบอย่างไร ทำไมธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญ?

ด้วยวิกฤตการณ์ของโลกหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ไม่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาในการจัดส่งสินค้า ด้วยเหตุนี้ การจัดการความเสี่ยงในซัพพลายเชนที่ครอบคลุม จะสามารถช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้

  • การหยุดชะงักของสายการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียงและรายได้ของบริษัทโดยตรง การจัดการความเสี่ยงในซัพพลายเชนเป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ตั้งแต่การคาดการณ์เหตุการณ์และการวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ช่วยให้ไลน์การผลิตสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าเกิดวิกฤตการณ์ใด ๆ ก็ตาม

  • การรักษาความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยการผลิตและส่งมอบสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา รวมถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพของสินค้า ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจให้กับลูกค้า

  • เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ เนื่องจากความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการบริหารจัดการสูง

  • ลดต้นทุนในระยะยาว ไม่ต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเมื่อเกิดภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยมีการวางแผนและเตรียมพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

  • สร้างความเชื่อมั่นให้กับพาร์ตเนอร์ เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีความเป็นมืออาชีพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายธุรกิจ

A man planning product transportation to reduce supply chain risks

แนวทางการบริหารจัดการซัพพลายเชนจากความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ

เพื่อให้กระบวนการผลิตและส่งมอบสินค้าไม่เกิดการหยุดชะงัก ผู้ประกอบการจึงต้องมีการจัดการความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนในหลากหลายมิติ ดังนี้

1. การบริหารจัดการกับความเสี่ยงระดับโลก

หลายคนอาจจะมองว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบแพร่หลายระดับโลก เป็นความเสี่ยงที่ยากจะควบคุมหรือหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถบริหารความเสี่ยงได้ โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการดังต่อไปนี้

  • กระจายความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ โดยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งมากเกินไป และแนะนำให้จัดหาวัตถุดิบจากหลากหลายประเทศ เพราะหากประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดปัญหา จะสามารถสั่งวัตถุดิบจากประเทศอื่น ๆ ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันได้

  • การทำ Contract เพื่อวางแผนการส่งวัตถุดิบให้ตรงตามกำหนด และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้ผลิตโดยตรง

  • การวางแผนสำรองฉุกเฉิน เผื่อเส้นทางการขนส่งหลักมีปัญหาคอขวด ทำให้ส่งสินค้าล่าช้า ยังสามารถส่งสินค้าไปยังจุดหมายโดยใช้เส้นทางสำรองได้

  • การติดตามสถานการณ์โลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และวางแผนรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ในกรณีเกิดสงครามระหว่างประเทศ อย่างสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นไทเทเนียมไดออกไซด์ รวมถึงปัญหาน้ำมันราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องวางแผนความต้องการและจัดการวัตถุดิบจากหลากหลายแหล่ง เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบใน Supply Chain

นอกจากนี้ ในกรณีที่ค่าขนส่งสินค้า หรือ Freight มีราคาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูง หรือภาวะสงคราม แนวทางการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็คือ การปรับมาใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น เพื่อทดแทนการขนส่งในระยะไกล โดยให้พนักงานที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นผู้ประสานงานและบริหารการจัดการ

2. การบริหารจัดการความเสี่ยงในการดำเนินงาน (Operational Risks)

  • ฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นให้แรงงานอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน และช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ

  • ใช้ AI และหุ่นยนต์ในการผลิตมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์

  • สร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์กร โดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานจากภายนอกเข้ามาช่วยบริหารจัดการในด้านต่างๆ เช่น การจัดหาวัตถุดิบและสินค้า การตรวจสอบคุณภาพสินค้า การให้คำปรึกษาในด้านการผลิต

ในกรณีที่ผู้ประกอบการขาดแรงงานที่มีทักษะ หรือไม่มีความเชี่ยวชาญมากเพียงพอ สามารถเลือกใช้บริการพาร์ตเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง SCG International ที่พร้อมให้บริการด้าน End to End Supply Chain และให้คำปรึกษาในด้านการผลิต ยกตัวอย่าง เคส SCG International เข้าไปช่วยสนับสนุนความรู้และเทคโนโลยีให้แก่บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์อันดับ 1 ในประเทศบังกลาเทศอย่าง Shah cement ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต แต่ยังคงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เอาไว้เช่นเดิม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

3. การบริหารจัดการความเสี่ยงจากธรรมชาติ ( Natural Risks)

แน่นอนว่าเราไม่สามารถหยุดภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถวางแผนและสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือได้ ดังต่อไปนี้

  • เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทำให้การขนส่งสินค้าต้องหยุดชะงัก

  • มีระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถคาดการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้

  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับการทำงานทางไกลแบบเรียลไทม์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ออฟฟิศก็สามารถควบคุมและบริหารจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์เมือง ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก รวมถึงการส่งวัตถุดิบ ทำให้ไลน์การผลิตได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่หากมีการคาดการณ์สถานการณ์เอาไว้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้าย รวมถึงคำนวณความต้องการของวัตถุดิบ และจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างเหมาะสม ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการแบบเรียลไทม์ ก็จะช่วยให้การผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้ จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายซัพพลายเชนของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ยาวนาน

4. การบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ (Economic Risk)

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่เกิดจากผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจ ไปจนถึงการที่ค่าเงินมีความผันผวน ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนสินค้าโดยตรง

  • ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกะทันหัน

  • ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นการลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว

  • ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ตามช่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

  • เพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายเชน เพื่อลดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบและสินค้า และช่วยกระจายความเสี่ยง

ตัวอย่างในกรณีที่ค่าเงิน หรือค่าน้ำมันมีความผันผวน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สามารถบริหารจัดการได้ด้วยการปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยสินค้าบางประเภท สามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากการส่งแบบตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการขนส่งสินค้าแบบเทกอง (Bulk Cargo) ซึ่งการปรับเปลี่ยนในรูปแบบนี้ ซัพพลายเออร์ต้องมีความยืดหยุ่นสูง เช่น ต้องมีการปรับ Packing ให้เหมาะกับการขนส่งแบบเทกอง (Bulk Cargo) รวมถึงต้องมีการคำนวณจำนวนชั้นสูงสุดที่จะสามารถวางซ้อนสินค้าโดยไม่เกิดความเสียหาย เพื่อสามารถจัดวางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้

บริหารความเสี่ยงด้วยบริการ End-to-End Solution
จาก SCG International

SCG International ผู้นำด้านการให้บริการด้านการจัดการซัพพลายเชนระดับโลก ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากกว่า 45 ปี ทำให้มีความเข้าใจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง โดยจะเข้าไปช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ในส่วนต่าง ๆ ดังนี้

  • โซลูชันที่ครอบคลุมและครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่เชื่อถือได้หลากหลายแหล่ง การตรวจสอบคุณภาพ การจัดการโลจิสติกส์ ไปจนถึงโซลูชันด้านการเงิน และการจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย

  • การบริหารจัดการที่ยืดหยุ่น และสามารถปรับแต่งให้เข้ากับอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงสามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่ในห้วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ

  • เครือข่ายและพาร์ตเนอร์ทั่วโลก สามารถจัดหาวัตถุดิบหรือสินค้า ช่วยในการขยายธุรกิจและให้ความช่วยเหลือได้อย่างราบรื่น

  • มี Local Presences และพนักงานท้องถิ่นคอยช่วยเหลือและดูแล มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สามารถเข้าไปให้คำปรึกษาและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

  • การบริหารจัดการที่ยั่งยืน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยงมากมาย การเลือกใช้บริการจาก SCG International บริษัท End-to-End Supply Chain Service Provider สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการซัพพลายเชน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากว่าคุณกำลังมองหาพาร์ตเนอร์ที่ช่วยยกระดับธุรกิจ และพร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก เรามีโซลูชันที่ช่วยลดความเสี่ยงในซัพพลายเชนที่พร้อมช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างยั่งยืน ติดต่อเราเพื่อขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้เลย

SCG INTL Logo Square

SCG International Corporation

ด้วยประสบการณ์ด้านการซื้อขายวัตถุดิบระหว่างประเทศ กว่า 45 ปี เราได้พัฒนาความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่วัตถุดิบอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง สินค้าบ้านและที่อยู่อาศัย กระดาษและบรรจุภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม วัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงพลังงาน ความรู้ที่กว้างขวางนี้ทำให้เราเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือด้านซัพพลายเชนระดับโลก ทำให้สามารถให้ข้อมูลตลาดเชิงลึกที่มีประโยชน์และเชื่อถือได้ ผ่านการนำเสนอบทความที่รวบรวมมาจากประสบการณ์อันยาวนาน ช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะสามารถจัดการกับความซับซ้อนของซัพพลายเชนได้อย่างมั่นคง